มุมแนะนำ

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พิพิธภัณฑ์อู่เรือพระราชพิธี



พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี

ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                                            เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ใน่วงนี้ทำให้การจัดงานขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ที่เดิมมีหมายกำหนดการจัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2554 มีความจำเป็นต้องเลือนการจัดงานไปในปีหน้า
       
       อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงขบวนเรือพระราชพิธีแล้ว ก็ทำให้ฉันอยากที่จะรู้ถึงความเป็นมาของเรือต่างๆของเรา ฉันจึงเดินทางไปบุกยังถิ่นทัพเรือ ฝั่งธนบุรี และมุ่งตรงไปยัง“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” เพื่อมาเรียนรู้เกี่ยวกับเจ้าพาหนะทางน้ำให้มากยิ่งขึ้น
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                      อาคารพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเก่าแก่กว่า 100 ปี
       เมื่อเข้าประตูกรมอู่ทหารเรือ ฉันตรงไปจนเกือบจะสุดทาง ทางด้านซ้ายมือจะเจอกับ “พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา” เป็นอาคารสีขาวเขียว ดูเก่าแก่สวยงาม ซึ่งอาคารหลังนี้เป็นอาคารเรือนไม้ของแผนกโรงงานเครื่องกล กองโรงงาน อู่ทหารเรือธนบุรี ที่เคยเป็นอาคารกรมยุทธนาธิการทหารเรือเดิม
      
       อาคารเก่าแก่หลังนี้อายุมากกว่า 100 ปี เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นไม้ มีระเบียงโปร่งล้อมรอบ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิงรอบอาคารประดับด้วยไม้ฉลุลายที่สวยงาม ตามหลักฐานที่ปรากฏ อาคารนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนอกจากความสวยงามและเก่าแก่แล้ว ที่หน้าจั่วของทางเข้ายังมีการเล่นลวดลายสีเขียวเป็นฟันเฟืองของลวดลายช่าง เพื่อผสมผสานกลมกลืนกับเจ้าของสถานที่ที่เคยเป็นอาคารของแผนกช่างมาก่อน
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                    การจัดแสดงในส่วนจากราชนิเวศน์สู่อู่เรือหลวง
       และก่อนที่เราจะได้ชมภายในพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องมารู้ประวัติความเป็นมาคร่าวๆของกรมอู่ทหารเรือและพิธีเปิดอู่เรือกันที่ “ห้องแสดงวีดีทัศน์” กันก่อนว่า รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอู่เรือหลวงขนาดใหญ่ขึ้นใต้วัดระฆัง เพื่อใช้ในการซ่อมสร้างเรือรบที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น โดยพระองค์เสด็จฯ มาทรงกระทำพิธีเปิดอู่เรือหลวงด้วยพระองค์เองเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2433 ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่กองทัพเรือ
      
       กิจการอู่เรือหลวงได้เจริญก้าวหน้าขึ้น จนต้องสร้างอู่เรือหลวงขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการซ่อมสร้างเรือที่มีเพิ่มมากขึ้น อู่เรือหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างนี้ นับได้ว่าเป็นการวางรากฐานในกิจการของกรมอู่ทหารเรือให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในวีดีทัศน์ยังกล่าวถึงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกด้วย
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                         การจัดแสดงที่ทันสมัยภายในพิพิธภัณฑ์
       จากนั้นเจ้าหน้าที่พาเราขึ้นไปที่ชั้นบน เพื่อไปยังส่วนจัดแสดงต่อไปคือส่วน “จากราชนิเวศน์สู่อู่เรือหลวง” จัดแสดงประวัติพื้นที่ก่อนจะมีการสร้างอู่เรือหลวงขึ้น ต่อเนื่องด้วย“จากอู่เรือหลวงสู่กรมอู่ทหารเรือ” เป็นส่วนที่อธิบายถึงความสำคัญของงานอู่เรือกับการปกป้องอธิปไตยของชาติทางทะเล และความจำเป็นของการมีอู่เรือขนาดใหญ่
      
       ถัดไปเป็นส่วน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานนาวิกสถาปัตย์” โดยกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพแห่งพระองค์ด้านการต่อเรือ การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.91 ตามแนวพระราชดำริ และการขยายผลสู่ชุดเรือ ต.991 และชุดเรือ ต.994
      
       ต่อด้วย “การเสริมสร้างสมุททานุภาพให้กองทัพเรือ” ซึ่งจัดแสดงให้เห็นถึงกระบวนการต่อเรือ วิทยาการและเทคโนโลยีการต่อเรือจากอดีตถึงปัจจุบัน จากนั้นจึงเข้าสู่ส่วนจัดแสดง “การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ” ซึ่งนำเสนอการต่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 การอนุรักษ์ และการซ่อมเรือพระราชพิธี
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                                  เรือตรวจการณ์ ต.991 จำลอง
       จากนั้นเจ้าหน้าที่พาฉันลงไปยังชั้นล่างเพื่อชมส่วนจัดแสดงต่อไป คือ “ทำเรือให้พร้อมรบ” อันแสดงถึงกระบวนการซ่อมทำเรือรบ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ และผลงานการซ่อมทำเรือที่สำคัญของกรมอู่ทหารเรือ จนมาต่อที่ส่วน “งานอื่นๆนอกเหนือจากการซ่อมสร้างเรือ” เช่น อัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองจากพิษณุโลกมายังโรงหล่อ การผลิตพลังงานทดแทนไบโอดีเซล การทำเชือกชักฉุดราชรถ การอบรมหลักสูตรเรือใบซูเปอร์มด เป็นต้น
      
       ถัดจากนั้นบริเวณกลางห้องโถง ได้ถูกจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ จากนั้นเป็นส่วนจัดแสดงเรื่อง “อู่เรือและอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศ” เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกิจการอู่เรือ และพาณิชย์นาวีของประเทศในด้านต่างๆ
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                 การจัดแสดงในส่วนประสานเทคโนโลยีรวมบุคลากร
       และมาจบลงที่ส่วนจัดแสดงสุดท้าย คือ “ประสานเทคโนโลยี รวมบุคลากร” ที่แสดงถึงการจะต่อเรือลำหนึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและบุคลากรในสาขาต่างๆ เพื่อให้บรรลุภารกิจการซ่อม สร้าง และดัดแปลงเรือ
      
       เมื่อรับชมภายในพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงจบแล้ว ฉันเห็นที่อู่จอดเรือ มีเรือพระที่นั่งจอดอยู่ 4 ลำ ซึ่งเจ้าหน้าที่เล่าว่า ในช่วงของการซ้อมขบวนเรือ จะนำเรือพระที่นั่งมาจอดในบริเวณนี้เพื่อเป็นการสะดวกในการเคลื่อนย้ายและการตรวจบำรุงรักษา
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                                 ส่วนจัดแสดงเรือใบซูเปอร์มด
       ใครที่อยากจะรู้จักกับเรือพระที่นั่ง และเรือพระราชพิธีอย่างใกล้ชิด ฉันขอแนะนำให้ไปต่อที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” ที่อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงแห่งนี้
      
       โดยพิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธีแห่งนี้ มีลักษณะเป็นโรงเรือขนาดใหญ่ ด้านในตู้กระจกขนาดใหญ่ที่อยู่ในสุดของพิพิธภัณฑ์บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของการแห่เรือ และความเป็นมาของเรือพระที่นั่งไว้อย่างละเอียด ซึ่งเรือพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนและขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น มีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณฯขณะซ่อมบำรุงที่อู่เรือ
       โดยในอดีตเรือพระราชพิธีจะหมายถึงเรือที่สร้างขึ้นสำหรับใช้ในยามศึกสงคราม และเป็นราชพาหนะของกษัตริย์ในการเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศล หรือประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ แต่เรือเหล่านั้นได้ถูกทำลายไปหมดเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่สอง
      
       ต่อมารัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สร้างเรือพระที่นั่งและเรือประกอบขบวนขึ้นอีกครั้ง และในรัชกาลต่อๆ มาก็มีการสร้างเรือเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายลำ แม้ในช่วงหลังๆ เรือพระที่นั่งเหล่านี้จะไม่ได้ใช้ในการสงครามแล้ว แต่ก็ได้ใช้ในการสืบทอดแบบแผนกขบวนพยุหยาตราทางชลมารคต่อไป
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณฯและเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่อู่เรือ
       เมื่อรู้ประวัติกันแล้วก็มายลโฉมเรือพระที่นั่งและเรือในขบวนเรือพระราชพิธี ที่ตั้งอยู่อย่างงามสง่า 8 ลำด้วยกัน โดยเรือลำแรกที่มีความสำคัญมากก็คือ “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเสร็จลงในสมัยรัชกาลที่ 6 มีโขนเรือเป็นรูปหงส์ ซึ่งตามตำนานอินเดียถือว่าหงส์เป็นพาหนะของพระพรหม และเป็นเครื่องหมายของความสง่างาม สูงส่ง
      
       ถัดมาคือ “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” เป็นเรือพระที่นั่งที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนคนไทยในสมัยนี้มากที่สุด เพราะเรือลำนี้เป็นเรือที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากรร่วมกับกองทัพเรือ และสำนักพระราชวัง โดยเพิ่งสร้างเสร็จในปี 2539 เพื่อทดแทนเรือพระที่นั่งลำเดิม และเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกอีกด้วย
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
เรือพระที่นั่งที่แสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี
       “เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช” โขนเรือเป็นรูปนาคเจ็ดเศียร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยปรกติแล้ว เรือพระที่นั่งลำนี้จะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ หรือผ้าพระกฐินในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ส่วน “เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์” เป็นเรือพระที่นั่งรอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โขนเรือจำหลักลายปิดทองรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก
      
       ส่วนเรือที่เหลือนั้น มิได้เป็นเรือพระที่นั่ง แต่เป็นเรือประกอบในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้แก่ เรือเอกชัยเหินหาว เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์ รวมทั้งหมด 8 ลำที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จริงๆ แล้วเรือในขบวนพยุหยาตรายังมีมากกว่านั้น แต่เก็บรักษาไว้ในสถานที่อื่นๆ คือในโรงเรือแผนกพระราชพิธี กองเรือเล็ก กรมขนส่งทหารเรือ และโรงเรืออู่ยนต์หลวง ท่าวาสุกรี
      
       สำหรับใครที่อยากชมเรือพระที่นั่งอย่างใกล้ชิดก็สามารถเข้าชมได้ เพราะทั้งเรื่องราวของขบวนเรือพระราชพิธีและเรือต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองไทยที่ทรงคุณค่ายิ่ง
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                                   ตู้แสดงประวัติเรือพระราชพิธี
      
ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”
                       อาคารโรงเรือพิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
      
     
  “พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” ตั้งอยู่ที่ กรมอู่ทหารเรือ ถ.อรุณอมรินทร์ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรีวันจันทร์-ศุกร์ เวลาราชการ โดยต้องติดต่อล่วงหน้า และเข้าชมเป็นหมู่คณะ 12-50 คน หากน้อยกว่านั้นทางพิพิธภัณฑ์จะจับกลุ่มให้ สอบถามโทร. 0-2475-4185
      
       ส่วน”พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี” ตั้งอยู่ที่ เชิงสะพานอรุณอมรินทร์ ถ.อรุณอมรินทร์ ศิริราช บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน เวลา 9.00-17.00 น. คนไทย 20 บ. ต่างชาติ 100 บ. โดยในช่วงนี้ปิดให้บริการ และจะเปิดอีกครั้งในเดือนพ.ย. นี้ สอบถามโทร. 0-2424-0004

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มุมแนะนำ